การอ่านร้อยกรอง

                                 การอ่านร้อยกรอง

              ในการอ่านในใจหรืออ่านออกเสียงปกติเหมือนกับอ่านร้อยแก้ว เพื่อให้ทราบความหมายนั้น ไม่ต้องการความไพเราะของเสียงเราสามารถอ่านตามวรรคตอนปกติเหมือนอ่านร้อยแก้ว ส่วนในการอ่านร้อยกรองในลักษณะของการอ่านทำนองเสนาะนั้น จะต้องอ่านออกเสียงให้ไพเราะเสนาะหู อ่านให้น่าฟัง มีการใช้ลีลา จังหวะ และน้ำเสียงที่แตกต่างกันออกไปตามชนิดและประเภทของบทร้อยกรอง ซึ่งการอ่านร้อยกรอง มีข้อควรปฏิบัติ ดังนี้

ข้อควรปฏิบัติในการอ่าร้อยกรอง
1. นำบทร้อยกรองที่จะอ่านมาศึกษา เพื่อให้ทราบว่า เป็นบทร้อยกรองประเภทใด จะอ่านเป็นทำนองเสนาะอย่างไร

2. ศึกษาลักษณะบังคับของบทร้อยกรองนั้นๆ เพื่อให้ทราบจังหวะ สัมผัสบังคับ และลีลาของบทร้อยกรองที่อ่านให้เข้าใจ จากนั้นฝึกอ่านแบบธรรมดาก่อน แล้วจึงอ่านออกเสียงเป็นจังหวะตามสัมผัสคล้องจอง

3. ฝึกอ่านเป็นทำนองเสนาะโดยอาจฟังตัวอย่างการอ่านทำนองเสนาะจากเทป CD จากคุณครูหรือจากผู้เชี่ยวชาญด้านการอ่านทำนองเสนาะ แล้วฝึกออกเสียงตามหลายๆ ครั้ง จนคล่องและจำได้

4. เลือกใช้น้ำเสียง ในขณะอ่านทำนองเสนาะให้เหมาะสมสอดคล้องกับอารมณ์ และบรรยากาศของบทร้อยกรองที่อ่าน เช่น ใช้น้ำเสียงฮึกเหิม เมื่ออ่านบท ร้อยกรองที่มีเนื้อหาปลุกใจ เป็นต้น

5. รู้จักใช้ศิลปะการใช้น้ำเสียง ในการอ่านร้อยกรองแต่ละครั้งหลักสำคัญของศิลปะการใช้น้ำเสียงอยู่ที่การไม่ดัดเสียงหรือฝืนเสียงให้ผิดธรรมชาติ คงใช้เสียงตามธรรมชาติของผู้อ่านเองให้เหมาะสมกับความหมาย อารมณ์ ความรู้สึกของบทร้อยกรองที่อ่าน โดยพิจารณาดูเนื้อหาของบทร้อยกรองว่าเป็นไปทางใด เช่น เยาะเย้ย เสียดสี คาดคั้น ถากถาง ประชดประชัน ดุด่า ปลอบใจ โศกเศร้า ตื่นเต้น ดีใจ สูญเสีย อ้อนวอน ฯลฯ แล้วจึงเปล่งเสียงออกมาให้เหมาะสม เช่น ออกเสียงแบบกระแทกเสียง กระซิบ ลากเสียงยาว ใช้เสียงห้วนสั้น สะบัดเสียง เป็นต้น 

          เพียงเท่านี้ เพื่อนๆ ก็จะสามารถอ่านบทร้อยกรองต่างๆ ได้ไพเราะสมดังที่ตั้งใจแล้วล่ะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อนๆ ควรหมั่นฝึกอ่านบทร้อยกรองอยู่เสมอด้วยนะ เพื่อให้อ่านบทร้อยกรองได้ชำนาญยิ่งขึ้น

 

ที่มา: ฝ่ายวิชาการ อจท.

ใส่ความเห็น