Archive for กันยายน 10th, 2012

มาเรียนUTQ กันเถอะ จะปิดอบรมรุ่นที่ 1 วันที่ 20 ก.ย. 2555 นี้แล้ว

 

มาเรียนUTQ กันเถอะ จะปิดอบรมรุ่นที่ 1 วันที่ 20 ก.ย. 2555 นี้แล้ว

สนใจคลิกที่นี่    http://www.utqonline.com

ทางเลือกในการรักษามะเร็งด้วยวิธีการอื่น นั่นคือการตัดอาหารที่จะไปเลี้ยงเซลล์มะเร็ง อันได้แก่…

     

                                                                              “มะเร็ง”

โรคที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตในอันดับต้นๆ ของคนทั่วโลก การรักษาโรคมะเร็ง มีทั้งการกินยา ผ่าตัด ฉายรังสี และการบำบัดคีโม ซึ่งอาจส่งผลกระทบไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะระบบภูมิคุ้มกัน

           โรงพยาบาลจอห์น ฮอปกินส์ ในสหรัฐอเมริกา ได้เสนอทางเลือกในการรักษามะเร็งด้วยวิธีการอื่น นั่นคือการตัดอาหารที่จะไปเลี้ยงเซลล์มะเร็ง อันได้แก่
น้ำตาล 

อาหารสุดอร่อยที่มะเร็งชอบสุดๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลแท้ๆ หรือสารทดแทนความหวาน ก็ล้วนแต่เป็นอันตรายทั้งสิ้น ทางออกที่ดีที่สุดคือการเลือกของที่มาจากธรรมชาติ อย่างน้ำผึ้งหรือน้ำอ้อยแทน

 นมจากสัตว์ 

นมจากสัตว์ทำให้ระบบทางเดินอาหารผลิตเมือกขึ้น ผลก็คือเซลล์มะเร็งจะร่าเริง อิ่มหมีพีมัน กินอาหารได้ดีในสภาวะนี้ ดังนั้นควรเลือกที่จะดื่มนมจากพืชหรือนมถั่วเหลือง (ไม่หวาน) แทน

เนื้อสัตว์ 

ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหมูหรือเนื้อวัว ก็ล้วนแต่เป็นของชอบของมะเร็งทั้งนั้น เพราะเนื้อทั้งสองนั้นย่อยยาก หากย่อยไม่หมด อาหารจะบูด เน่า เป็นพิษ ทั้งยังเป็นตัวสร้างกรดในร่างกาย ซึ่งเป็นบรรยากาศชั้นดีเหมาะกับการเติบโตของมะเร็ง ทางเลือกก็คือควรเลือกปลาหรือไก่แทน แต่ถ้าเป็นไปได้การรับประทานพืชหัว เมล็ดถั่วเปลือกแข็ง และผลไม้ จะช่วยปรับสมดุลทำให้ร่างกายเป็นด่างมากขึ้น การงดหรือลดเนื้อสัตว์จะทำให้มีเอนไซม์มากพอที่จะเจาะโปรตีนที่ห่อหุ้มเซลล์มะเร็งได้

 คาเฟอีน

คาเฟอีนจากชา กาแฟ ช็อกโกแลต น้ำอัดลม แหล่งนิยมอีกแห่ง ทางที่ดีควรเลือกดื่มน้ำสะอาดผ่านการกรอง เลี่ยงการดื่มน้ำประปาเพราะอาจมีท็อกซิน และโลหะหนักปนเปื้อน และเลี่ยงน้ำกลั่นเพราะมีคุณสมบัติเป็นกรด ส่วนน้ำผักสดก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ไม่น่ามองข้าม เพราะจะมีเอนไซม์ที่สามารถดูดและซึมซับง่าย
       นอกจากอาหารแล้ว “ความเครียด” ก็นับได้ว่าเป็นปุ๋ยชั้นดีที่ทำให้มะเร็งงอกงาม เพราะเมื่อมีความเครียด ร่างกายจะหลั่งกรด การทำใจให้สบาย ให้อภัย คิดเชิงบวก เรียนรู้ที่จะผ่อนคลาย มีความสุขกับชีวิต อยู่ในบริเวณที่มีอากาศดี มีออกซิเจนมาก รวมถึงการออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยพิฆาตมะเร็งได้

 
ที่มา… วาไรตี้เฮลท์ หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

มท.ชี้บล็อก “เฟซบุ๊ก” ไม่ลิดรอนสิทธิ ขรก.

           

 

 

 มท.ชี้บล็อก “เฟซบุ๊ก” ไม่ลิดรอนสิทธิ ขรก.ลั่นใช้เล่นส่วนตัวกระทบการใช้ข้อมูลส่วนรวม

               นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเมื่อวันที่ 8 กันยายน ถึงกรณีที่มีคำสั่งห้ามข้าราชการใช้อินเตอร์เน็ตออนไลน์ โดยเฉพาะเฟซบุ๊กในเวลาราชการว่า คำสั่งดังกล่าวใช้เฉพาะข้าราชการในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับกรมหรือหน่วยงานราชการอื่นๆ รวมถึงงานด้านการทะเบียน เพราะระบบทะเบียนเป็นของกรมการปกครอง ไม่เกี่ยวข้องกับสำนักงานปลัดกระทรวง โดยการบล็อกสัญญาณจะบล็อกจากศูนย์แม่ข่ายของศูนย์เทคโนโลยีฯ เพราะที่ผ่านมาข้อมูลเครือข่ายงานด้านการจราจรแออัดมาก เช่น ข้าราชการเปิดใช้อินเตอร์เน็ต 100 เครื่อง มีการเปิดหน้าจอเฟซบุ๊กหรือดาวน์โหลดภาพและเสียงผ่านเว็บไซต์ยูทูป 80 เครื่อง ทำให้การใช้งานอีก 20 เครื่องในการสืบค้นข้อมูลทางราชการเป็นไปอย่างล่าช้า อีกทั้งหนังสือสั่งการระบบสารบรรณ ไม่สามารถเรียกขึ้นมาใช้งานได้ทันที

         ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องบล็อกเฟซบุ๊ก เพราะเป็นการเอาเครื่องราชการมาใช้งานส่วนตัว และไม่ถือว่าเป็นการลิดรอนสิทธิของข้าราชการ แต่หากใครใช้สัญญาณอินเตอร์เน็ตจากโทรศัพท์ส่วนตัวเชื่อมเครื่องส่วนตัว ก็สามารถทำได้ ทั้งนี้ การบล็อกสัญญาณดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือไอซีที กระทรวงมหาดไทยสามารถดำเนินการได้เองผ่านเครือข่ายของเรา

            เมื่อถามว่าเรื่องดังกล่าวกระทบกับการประชุมทางไกลผ่านดาวเทียมหรือระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ของกระทรวงมหาดไทยหรือไม่ นายแมนรัตน์ กล่าวว่า ไม่กระทบการประชุมคอนเฟอร์เรนซ์มากนัก แต่ที่กระทบหนักมากที่สุด คือการเรียกใช้ข้อมูล

ที่มา มติชนออนไลน์ วันที่ 08 กันยายน พ.ศ. 2555

กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘ พร้อมตัวอย่าง ง่ายต่อการจดจำ


    

อธิบาย กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘

           กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘ เป็นกาพย์ที่มีเค้ามาจาก กาพย์กากคติในคัมภีร์กาพย์สารวิลาสินี และมาจากกาพย์ทัณฑิกา ในกาพย์คันถะ และยังมีผู้รู้บางท่านมีความเชื่อมั่นว่า มาจาก ฉันท์ชื่อวิสาลวิกฉันท์ ซึ่งมีที่มาจากคำบาลี ที่ขึ้นต้นด้วยบทว่า

           สุราคณา  สุโสภณา  รปิรโก

          สมานสิ  ภวนฺทโน  สเรนโก  รตฺตินฺทิวา

          สุรางคนางค์นี้ ใน จินดามณี เรียกว่า สุรางคณาปทุมฉันท์กลอน ๔

          กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘ นี้ ในหนึ่งบท มี ๒ บาท บาทแรกมี ๓ วรรค บาทที่สอง มี ๔ วรรค  วรรคหนึ่ง มี ๔ คำ รวมเป็น ๗ วรรค ในหนึ่งบท  ถ้านับคำได้เป็น ๒๘ คำ ด้วยเหตุนี้ จึงเรียก กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘

          การสัมผัสนั้น มีหลักดังนี้ คำสุดท้ายของวรรคที่ ๑ สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ คำสุดท้ายของวรรคที่ ๓ สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ ๕ และวรรคที่ ๖ คำสุดท้ายของวรรคที่ ๔ สัมผัสกับคำที่ ๒ ของวรรคที่ ๕ ส่วนการสัมผัสระหว่างบทนั้น คือ คำสุดท้ายของบทแรกไปสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ ๓ ในบทถัดไป และถ้าแต่งไปอีกกี่บทก็ตาม ให้ถือหลักการสัมผัสอย่างนี้ไปจนจบเนื้อความตามต้องการ ดังแผนผังการสัมผัส ดังนี้

  

เพลิดเพลินใจไปกับธรรมชาติในป่า

     กาพย์สุรางคนางค์ ๒๘

                   เดินดงพงไพร  เยือกเย็นเป็นใจ  ที่ใดเปรียบปาน

       เสียงไก่ก้องป่า  ขันลาวันวาน เสียงนกร้องขาน  สำราญหัวใจ

                            เสียงเขียดเสียงกบ เสียงดังฟังครบ  บรรจบขานไข

       นกยูงกระยาง  เดินย่างไวไว  ดูสวยสดใส  ยวนใจผู้คน

                          เห็นกวางย่างเดิน  มองดูเพลิดเพลิน  จำเริญกมล

       กระแตไต่ไม้  เพื่อได้กินผล  ทุกตัวทุกตน  บนต้นไม้งาม

                         เถาวัลย์พันต้น  ใบไม้คลุมบน  เขียวมากหลากหลาม

       บางพุ่มคลุมปก  ร่มรกรุ่มร่าม  แต่ดูสวยงาม  ไปตามดงไพร

                         ยังมีน้ำตก  ยั่วยวนเย้านก  เสียงดังหลั่งไหล

       กระทบภูผา  ไหลมาดูใจ  ไม่เลือกหน้าใคร  เย็นสุขทุกคน

                        เย็นน้ำสามเขา  ไม่สู้ใจเรา  เย็นทุกแห่งหน

       จะอยู่ที่ไหน  หัวใจสุขล้น  ให้ทุกผู้คน  สุขล้นทั่วกัน

                       น้ำตกไหลเย็น  กระทบหินเห็น  มองดูสุขสันต์

       น้ำตกทบหิน  ไม่สิ้นชีวัน  เพราะสิ่งสร้างสรรค์  หินมันแข็งแรง

                       ส่วนคนเดินดิน  ทำใจเหมือนหิน  อดทนเข้มแข็ง

       โลกธรรมกระทบ  ตะลบตะแลง  จิตไม่แสดง  โต้ตอบอารมณ์

                       ให้เย็นเหมือนน้ำ  หินเปรียบเทียบความ  ช่างงามเหมาะสม

       หินไม่หวั่นไหว  น้ำไม่ชื่นชม  กระทบเหมือนลม  ผ่านมาผ่านไป

                       ทั้งน้ำทั้งหิน  ไม่มีราคิน  กระทบแล้วไหล

       เปรียบดังอารมณ์  เหมาะสมภายใน  ไหลมาแล้วไป  ทำใจเป็นกลาง

                      คนเราเกิดมา  ไม่เร็วก็ช้า  ต้องมาละวาง

       ทิ้งทรัพย์สมบัติ  เซซัดหนทาง  นอนตายกายห่าง  ทุกร่างทุกคน

                      จงดูโลกนี้  พิเคราะห์ให้ดี  มีแต่สับสน

       กิเลสตัณหา  ชักพาฝูงชน  ให้หลงลืมตน  เกลือกกลั้วโลกีย์

                     เดินเที่ยวในป่า  อารมณ์ชมมา  สุขาวดี

       ลืมทุกข์โศกเศร้า  เคยร้าวราคี  มาจบลงที่  กลางดงพงไพร

                    สุขสันต์ทั่วหน้า  เมื่อได้ชมป่า  จิตใจสดใส

       เสียงนกนางร้อง  ดังก้องพงไพร  ส่งเสียงใกล้ไกล  ให้ใจเพลิดเพลิน

                    ร่มเย็นเห็นไม้  ทุกคนที่ได้  เหมือนนกเหาะเหิน

       บินหาลูกไม้  กินได้ให้เพลิน  พบหนทางเดิน  ไม่เกินดงไพร

                    เป็นสุขจริงจริง  ทั้งชายและหญิง  ยิ่งเดินป่าไป

       ชมธรรมชาติ  สะอาดหมดภัย  ทุกหนแห่งไหน  ให้ใจสุขเอย.

                                   ……………………..

         ขอบพระคุณท่าน อ.หยาดกวี… มอบมรดกภาษา ควรค่า ที่คนไทย ควรใส่ใจอนุรักษ์

                                    (ครูหนู)    ๒  สิงหาคม   ๒๕๕๒

ที่มา   http://www.kroobannok.com/

บทอาขยานย้อนยุค

ย้อนความทรงจำ ลำนำบทอาขยานย้อนยุค
ชั้น ประถมปีที่ ๑

๏ ๏ เด็กน้อย ๏ ๏
(ร้องลำฝรั่งรำเท้า)

เด็กเอ๋ย เด็กน้อย
ความรู้ เรายังด้อย เร่งศึกษา
เมื่อเติบใหญ่ เราจะได้ มีวิชา
เป็นเครื่องหา เลี้ยงชีพ สำหรับตน
ได้ประโยชน์ หลายสถาน เพราะการเรียน
จงพากเพียร ไปเถิด จะเกิดผล
ถึงลำบาก ตรากตรำ ก็จำทน
เกิดเป็นคน ควรหมั่น ขยันเอย……
๏ ๏ แมวเหมียว แยกเขี้ยวยิงฟัน ๏ ๏
(ร้องลำแขกบรเทศ)
-นายทัด เปรียญ – แต่ง

แมวเอ๋ย แมวเหมียว
รูปร่าง ประเปรียว เป็นหนักหนา
ร้องเรียก เหมียวเหมียว ประเดี๋ยวก็มา
เคล้าแข้ง เคล้าขา น่าเอ็นดู
รู้จัก เอารัก เข้าต่อตั้ง
ค่ำค่ำ ซ้ำนั่ง ระวังหนู
ควรนับว่ามัน กตัญญู
พอดู อย่างไว้ ใส่ใจเอย……
๏ ๏ ตั้งไข่ล้มต้มไข่กิน ๏ ๏
(ร้องลำลมพัดชายเขา)
-สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ- ทรงนิพนธ์

ตั้งเอ๋ยตั้งไข่
จะตั้งใย ไข่กลม ก็ล้มสิ้น
ถึงว่า ไข่ล้ม จะต้มกิน
ถ้าตกดิน เสียก็อด หมดฝีมือ
ตั้งใจ เรานี้ จะดีกว่า
อุตส่าห์ อ่านเขียน เรียนหนังสือ
ทั้งวิชา สารพัด เพียรหัดปรือ
อย่าดึงดื้อ ตั้งไข่ ร่ำไรเอย…….
๏ ๏ นกขมิ้นเหลืองอ่อน ๏ ๏
(ร้องลำพัดชา)
-หลวงพลโยธานุโยค(นก) – แต่ง

ปักเอ๋ย ปักษิน
นกขมิ้น เรื่อเรือง เหลืองอ่อน
ถึงเวลา หากิน ก็บินจร
ครั้นสายัณห์ ผันร่อน มานอนรัง
ความเคยคุ้น สกุณา อุตสาหะ
ไม่เลยละ พุ่มไม้ ที่ใจหวัง
เพราะพากเพียร ชอบที่ มีกำลัง
เป็นที่ตั้ง ตนรอด ตลอดเอย…….
๏ ๏ จิงโจ้โล้สำเภา ๏ ๏
(ร้องลำมอญรำดาบ)
-หลวงวิจิตรวาทการ- แต่ง

จิงเอ๋ยจิงโจ้
เล่นโล้ ในลำ สำเภาใหญ่
เพื่อออกแรง ออกกำลัง โดยตั้งใจ
ที่จะให้ เข้มแข็ง และอดทน
เรานักเรียน ต้องไม่คร้าน การกีฬา
เรื่อง พลศึกษา ต้องฝึกฝน
ให้แข็งแรง ถ้วนทั่ว ทุกตัวคน
เพื่อเป็นคุณ แก่ตน และชาติเอย…….

จบบทท่องจำชั้น ประถมปีที่ ๑ ครับ
ชั้น ประถมปีที่ ๒

๏ ๏ ชักซ้าวมะนาวโตงเตง ๏ ๏
(ร้องลำสารถีชักรถ)

ซักเอ๋ย ซักซ้าว
ผลมะนาว ทิ้งทาน ในงานศพ
เข้าแย่งชิง เหมือนสิ่ง ไม่เคยพบ
ไม่น่าคบ เลยหนอ พวกขอทาน
ดูประหนึ่ง ขัดสน จนปัญญา
มีทางหา กินได้ หลายสถาน
ประหลาดใจ เหตุไฉน ไม่ทำงาน
ประกอบการ อาชีพ ที่ดีเอย….
๏ ๏ ตุ๊ดตู่ในรูกระบอก ๏ ๏
(ร้องลำวิลันดาโอด)
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ- ทรงนิพนธ์

ตุ๊ดเอ๋ย ตุ๊ดตู่
ในเรี่ยว ในรู ช่างอยู่ได้
ขี้เกียจ นักหนา ระอาใจ
มาเรียกให้ กินหมาก ไม่อยากคบ
ชาติขี้เกียจ เบียดเบียน แต่เพื่อนบ้าน
การงาน สักนิด ก็คิดหลบ
ตื่นเช้า เราจักหมั่น ประชันพลบ
ไม่ขอพบ ขี้เกียจ เกลียดนักเอย….
๏ ๏ นกกิ้งโครงเข้าโพรงนกเอี้ยง ๏ ๏
(ร้องลำนกกระจอกทอง)
-พระยาพินิจสารา (ทิม) – แต่ง

นกเอ๋ย นกกิ้งโครง
หลงเข้าโพรง นกเอี้ยง เถียงเจ้าของ
อ๋อยอี๋เอียง อ๋อยอี๋เอียง ส่งเสียงร้อง
เจ้าของ เขาว่า น่าไม่อาย
แต่นก ยังรู้ ว่าผิดรัง
นักปราชญ์ รู้พลั้ง ไม่แม่นหมาย
แต่ผิด รับผิด พอผ่อนร้าย
ภายหลัง จงระวัง อย่าพลั้งเอย………

๏ ๏ เรือเล่นสามเส้นสิบห้าวา ๏ ๏
(ร้องลำตวงพระธาตุ)
นายทัด เปรียญ – แต่ง

เรือเอ๋ย เรือเล่น
สามเส้น เศษวา ไม่น่าล่ม
ฝีพายลง เต็มลำ จ้ำตะบม
ไปขวางน้ำ คว่ำจม ลงกลางวน
ทำขวางขวาง รีรี ไม่ดีหนอ
เที่ยวขัดคอ ขัดใจ ไม่เป็นผล
จะก่อเรื่อง เคืองข้อง หมองกมล
เกิดร้อนรน ร้าวฉาน รำคาญเอย…..
๏ ๏ นกเอี้ยงเลี้ยงควายเฒ่า ๏ ๏
(ร้องลำแขกไซ)
หลวงวิจิตรวาทการ – แต่ง

นกเอ๋ย นกเอี้ยง
คนเข้าใจ ว่าเจ้าเลี้ยง ซึ่งควายเฒ่า
แต่นกเอี้ยง นั้นเลี่ยง ทำงานเบา
แม้อาหาร ก็ไปเอา บนหลังควาย
เปรียบเหมือนคน ทำตน เป็นกาฝาก
รู้มาก เอาเปรียบ คนทั้งหลาย
หนีงานหนัก คอยสมัคร งานสบาย
จึงน่าอาย เพราะเอาเยี่ยง นกเอี้ยงเอย……..

จบบทท่องจำ ชั้นประถมปีที่ ๒ ครับ

 

ชั้น ประถมปีที่ ๓

๏ ๏ สัตว์สวยป่างาม ๏ ๏
จาก – มูลบทบรรพกิจ – ทรโวหาร (น้อย)

เห็นกวางย่างเยื้องชำเลืองเดิน…….เหมือนอย่างนางเชิญ
พระแสงสำอางข้างเคียง
เขาสูงฝูงหงส์ลงเรียง………..เริงร้องซ้องเสียง
สำเนียงน่าฟังวังเวง
กลางไพรไก่ขันบรรเลง…………ฟังเสียงเพียงเพลง
ซอเจ้งจำเรียงเวียงวัง
ยูงทองร้องกระโต้งโห่งดัง…….เพียงฆ้องกลองระฆัง
แตรสังข์กังสดารขานเสียง
กะลิงกะลางนางนวลนอนเรียง……..พญาลอคลอเคียง
แอ่นเอี้ยงอีโก้งโทงเทง
ค้อนทองเสียงร้องป๋องเป๋ง………..เพลินฟังวังเวง
อีเก้งเริงร้องลองเชิง
ฝูงละมั่งฝังดินกินเพลิง……….ค่างแข็งแรงเริง
ยืนเบิ่งบึ้งหน้าตาโพลง
ป่าสูงยูงยางช้างโขลง………..อึงคะนึงผึงโผง
โยงกันเล่นน้ำคล่ำไป

๏ ๏ นิติสารสาธก ๏ ๏
ของ พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย)

อย่าเกียจคร้านการเรียนเร่งอุตส่าห์
มีวิชาเหมือนมีทรัพย์อยู่นับแสน
จะตกถิ่งฐานใดคงไม่แคลน
ถึงคับแค้นก็พอยังประทังตน
อันความรู้รู้กระจ่างแต่อย่างเดียว
แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล
อาจจะชักเชิดชูฟูสกนธ์
ถึงคนจนพงศ์ไพร่คงได้ดี
เกิดเป็นชายชาวสยามตามวิสัย
หนังสือก็ไม่รู้ดูบัดสี
ต้องอับอายขายหน้าทั้งตาปี
ถึงผู้ดีก็คงด้อยถอยตระกูล
จะต่ำเตี้ยเสียชื่อว่าโฉดช้า
จะชักพายศลาภให้สาบสูญ
ทั้งขายหน้าญาติวงศ์พงศ์ประยูร
จะเพิ่มพูนติฉินคำนินทา
หนึ่งหนังสือหรือตำรับฉบับบท
เป็นของล้วนควรจดจำศึกษา
บิดาปู่สู้เสาะสะสมมา
หวังให้บุตรนัดดาได้ร่ำเรียน
จะได้ทราบบาปบุญทั้งคุณโทษ
ปะบุตรโฉดต่ำช้าก็พาเหียร
ไม่สมหวังดังบิดาปู่ตาเพียร
เป็นจำเนียรแพลงพลัดกระจัดกระจาย
๏ ๏ จันทร์เอ๋ย จันทร์เจ้า ๏ ๏

จันทร์เอ๋ย จันทร์เจ้า ขอข้าว ขอแกง
ขอแหวนทองแดง ผูกมือน้องข้า
ขอช้าง ขอม้า ให้น้องข้าขี่
ขอเก้าอี้ ให้น้องข้านั่ง
ขอเตียงตั้ง ให้น้องข้านอน
ขอละคร ให้น้องข้าดู
ขอยายชู เลี้ยงน้องข้ถิด
ขอยายเกิด เลี้ยงตัวข้าเอง

จบบทท่องจำชั้นประถมปีที่ ๓ ครับ

ภาพประกอบจาก “บึงหญ้า ป่าใหญ” -เทพศิริ สุขโสภา

ชั้น ประถมปีที่ ๔

๏ ๏ สยามานุสติ ๏ ๏
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖

๏ ใครรานใครรุกด้าว……………แดนไทย
ไทยรบจนสุดใจ…………………..ขาดดิ้น
เสียเนื้อเลือดหลั่งไหล…………….ยอมสละ สิ้นแล
เสียชีพไป่เสียสิ้น………………….ชื่อก้องเกียรติงาม
๏ หากสยามยังอยู่ยั้ง……………..ยืนยง
เราก็เหมือนอยู่คง………………….ชีพด้วย
หากสยามพินาศลง………………..ไทยอยู่ ได้ฤๅ
เราก็เหมือนมอดม้วย………………หมดสิ้นสกุลไทย
๏ ๏ โมกขศักดิ์ ๏ ๏
จากเรื่อง รามเกียรติ์
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๑

บัดนั้น……………………………………..พระยาพิเภกยักษี
เห็นพระองค์ทรงโศกโศกี…………….อสุรีกราบลงกับบาทา
ทูลว่าพระลักษณ์สุริยวงศ์……………..ยังไม่ปลงชีวังสังขาร์
อันโมกขศักดิ์อสุรา……………………..พรหมาประสิทธิ์ประสาทไว้
ทรงอานุภาพฤทธิรุทร…………………ต้องใครจะฉุดนั้นไม่ไหว
แต่มียาคู่หอกชัย…………………………ให้ไว้สำหรับแก้กัน
แม้นละไว้จนรุ่งราตรี…………………..ต้องแสงพระระวีจะอาสัญ
ขอให้ลูกพระพายเทวัญ………………..ไปห้ามพระสุริยันในชั้นฟ้า
อย่าเพ่อรีบรถบทจร……………………..ข้ามยุคนธรภูผา
แล้วให้ไปเก็บตรีชวา……………………ทั้งยาชื่อสังขรณี
ยังเขาสรรพยาบรรพต…………………ปรากฏอยู่ยอดคีรีศรี
กับปัญจมหานที………………………….สรรพยาทั้งนี้มาให้ทัน
แม้นว่าได้บดชโลมลง………………….องค์พระอนุชาไม่อาสัญ
จะดำรงคงชีพชีวัน……………………..หอกนั้นก็จะหลุดขึ้นมา
จบบทท่องจำชั้น ประถมปีที่ ๔ ครับ
ชั้น ประถมปีที่ ๕
สักวาหวานอื่นมีหมื่นแสน
ไม่เหมือนแม้นพจมานที่หวานหอม
กลิ่นประเทียบเปรียบดวงพวงพยอม
อาจจะน้อมจิตโน้มด้วยโลมลม
แม้นล้อลามหยามหยาบไม่ปลาบปลื้ม
ไม่ดูดดื่มบรเพ็ดต้องเข็ดขม
ผู้ดีไพร่ไม่ประกอบชอบอารมณ์
ใครฟังลมเมินหน้าระอาเอย………..
๏ ๏พวกเราชาวไทย๏ ๏

จากเรื่อง พระร่วง

พวกเราชาวไทยล้วนใจเด็ด
กล้าเหมือนเพชรไม่ยอมใครง่ายง่าย
กล้าเหมือนเพชรไม่ยอมใครง่ายง่าย
ถึงจะมีไพรีมามากมาย
ก็ต่อสู้จนตายไม่อินัง
ก็ต่อสู้จนตายไม่อินัง
ถึงเมียสาวลูกอ่อนนอนผ้าอ้อม
ชายก็ยอมทิ้งได้ไม่เหลียวหลัง
ชายก็ยอมทิ้งได้ไม่เหลียวหลัง
แม้ไม่ทิ้งหญิงคงส่งเสียงดัง
และดันหลังไล่ออกนอกเรือนชาน
และดันหลังไล่ออกนอกเรือนชาน
เพราะทั้งแม่ทั้งเมียล้วนเลิศไซร้
ผู้ชายไทยใจจึ่งล้วนกล้าหาญ
ผู้ชายไทยใจจึ่งล้วนกล้าหาญ
ไม่ห่วงแม่ห่วงเมียจนเสียการ
มีแก่ใจไปราญรบไพรี
มีแก่ใจไปราญรบไพรี
ถึงจะรักลูกและรักผัว
ไม่ยอมให้ชายมั่วอยู่สูสี
ไม่ยอมให้ชายมั่วอยู่สูสี
ยุให้ไปยุทธนารบราวี
และต่อตีเข้มขันป้องกันเมือง
จบบทท่องจำ ชั้นประถมปีที่ 5 ครับ (แฮ่กๆๆ เหนื่อยวุ้ย)
จากคุณ : ฯลฯ (paiyanyai) – [22 ต.ค. 44 14:48:44]

ชั้น ประถมปีที่ ๖
๏ ๏ วิชาเหมือนสินค้า ๏ ๏

วิชาเหมือนสินค้า อันมีค่าอยู่เมืองไกล
ต้องยากลำบากไป จึงจะได้สินค้ามา
จงตั้งเอากายเจ้า เป็นสำเภาอันโสภา
ความเพียรเป็นโยธา แขนซ้ายขวาเป็นเสาใบ
นิ้วเป็นสายระยาง สองเท้าต่างสมอใหญ่
ปากเป็นนายงานไป อัชฌาศัยเป็นเสบียง
สติเป็นหางเสือ ถือท้ายเรือไว้ให้เที่ยง
ถือไว้อย่าให้เอียง แล่นเลาะเลี่ยงข้ามคงคา
ปัญญาเป็นกล้องแก้ว ส่องดูแถวแนวหินผา
เจ้าจงเอาหูตา เป็นล้าต้าฟังดูลม
** ขี้เกียจคือปลาร้าย จะทำลายให้เรือจม
เอาใจเป็นปืนคม ยิงระดมให้จมไป**
จึงจะได้สินค้ามา คือวิชาอันพิศมัย
จงหมั่นมั่นหมายใจ อย่าได้คร้านการวิชา…..
๏ ๏ บทไหว้ครู ปฐม ก กา ๏ ๏

• นะโมข้าจะไหว้ วระไตรระตะนา
ใส่ไว้ในเกษา วระบาทะมุนี
• คุณะวระไตร ข้าใส่ไว้ในเกษี
เดชะพระมุนี ขออย่ามีที่โทษา
• ข้าขอยอชุลี ใส่เกษีไหว้บาทา
พระเจ้าผู้กรุณา อยู่เกษาอย่ามีไภย
• ข้าไหว้พระสะธรรม ที่ลึกล้ำคำภีร์ใน
ได้ดูรู้เข้าใจ ขออย่าได้มีโรคา
• ข้าไหว้พระภิกษุ ที่ได้ลุแก่โสดา
ไหว้พระสกิทาคา อะระหาธิบดี
• ข้าไหว้พระบิดา ไหว้บาทาพระชะนะนี
ไหว้พระอาจารีย์ ใส่เกษีไหว้บาทา
• ข้าไหว้พระครูเจ้า ครูผู้เฒ่าใส่เกษา
ให้รู้ที่วิชา ไหว้บาทาที่พระครู
• จะใคร่รู้ที่วิชา ขอเทวามาค้ำชู
ที่ใดข้าไม่รู้ เล่าว่าดูรู้แลนา
• ไชยโยขอเดชะ ชัยชะนะแก่มารา
ระบือให้ลือชา เดชะสามาไชยโย
• ไชยโยขอเดชะ ชัยชนะแก่โลโภ
• กุมาระกุมารี ตะรุณีย์ที่เยาว์ไว
จะฬ่อพอเข้าใจ ให้รู้จำคำวาที
• ว่าไว้ใน ก กา ก ข ขา อา อิ อี
ว่าไว้ในเท่านี้ ที่พอได้ใน ก กา
• แต่พอให้รู้เล่า ที่ผู้เขลาเยาวะพา
ได้ดูรู้แลนา กุมาราตะรุณี
• จะใคร่ได้รู้ธำม์ ที่ลึกล้ำจำไว้ดี
ได้แน่แต่เท่านี้ ดีจำเอาเบาใจครู
• จะว่าแต่ฬ่อๆ ว่าแต่พอฬ่อใจดู
ว่าไว้ได้พอรู้ ดูว่าเล่าเอาใจใส่

จากหนังสือปถม ก กา หัดอ่าน
หนังสือเรียนสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
(ขอบพระคุณ คุณสุคุณ ที่กรุณาแก้ไขและเพิ่มเติมข้อมูล ๑๖ กรกฎ ๔๗)

 

๏ ๏ พระอภัยมณี ๏ ๏
– สุนทรภู่ –

พระฟังความพราหมณ์น้อยสนองถาม
จึงเล่าความจะแจ้งแถลงไข
อันดนตรีมีคุณทุกอย่างไป
ย่อมใช้ได้ดังจินดาค่าบุรินทร์
ถึงมนุษย์ครุฑาเทวราช
จตุบาทกลางป่าพนาสิน
แม้นปี่เราเป่าไปให้ได้ยิน
ก็สุดสิ้นโทโสที่โกรธา
ให้ใจอ่อนนอนหลับลืมสติ
อันลัทธิดนตรีดีหนักหนา
ซึ่งสงสัยไม่สิ้นในวิญญา
จะนิทราเถิดจะเป่าให้เจ้าฟังแล้ว

หยิบปี่ที่ท่านอาจารย์ให้
เข้าพิงพฤกษาไทรดังใจหวัง
พระเป่าเปิดนิ้วเอกวิเวกดัง
สำเนียงวังเวงแว่วแจ้วจับใจ
ในเพลงปี่ว่าสามพี่พราหมณ์เอ๋ย
ยังไม่เคยชมชิดพิสมัย
ถึงร้อยรสบุปผาสุมาลัย
จะชื่นใจเหมือนสตรีไม่มีเลย
พระจันทรจรสว่างกลางโพยม
ไม่เทียบโฉมนางงามเจ้าพราหมณ์เอ๋ย
แม้นได้แก้วแล้วจะค่อยประคองเคย
ถนอมเชยชมโฉมประโลมลาน
เจ้าพราหมณ์ฟังวังเวงวะแว่วเสียง
สำเนียงเพียงการเวกกังวาลหวาน
หวาดประหวัดสตรีฤดีดาล
ให้ซาบซ่านเสียวสะดับจนหลับไป
ศรีสุวรรณนั้นนั่งอยู่ข้างพี่
ฟังเสียงปี่วาบวับก็หลับไหล
พระแกล้งเป่าแปลงเพลงวังเวงใจ
เป็นความบวงสรวงพระไทรที่เนินทรายฯ

 

๏ ๏ นรางกุโรวาทคำกลอน ๏ ๏
(ตอนปรารถนาดีต่อแดนเกิด)

เราเกิดมา หน้าที่ อารีสมาน
ใจเพื่อนบ้าน เพื่อนนิคม สนมสนิท
บ้านแลแขวง ตำแหน่งตน ทุกคนคิด
ช่วยให้เดิน เจริญผิด กว่าเคยมา
คอยหวังดี ถ้าแม้นมี โอกาสไฉน
ควรจะให้ แขวงนั้น สุขหรรษา
ทำไม่ไหว ให้ถวิล จินตนา
จะช่วยเหลือ เกื้อกว่า จะหมดแรง

 

เมืองไทยใหญ่อุดม
ดินดีสมเป็นนาสวน
เพื่อนรักเราชักชวน
ร่วมช่วยกันมุ่งหมั่นทำ
วิชาต้องหาไว้
เป็นหลักได้ใช้ช่วยนำ
ให้รู้ลู่ทางจำ
ค้นคว้าไปให้มากมี
ช่วยกันอย่างขันแข็ง
ด้วยลำแข้งและแรงกาย
ทำไปไม่เสียดาย
แม้อาบเหงื่อเมื่อทำงาน
ดั่งนี้มั่งมีแท้
ร่มเย็นแน่หาไหนปาน
โลกเขาคงเล่าขาน
ถิ่นไทยนี้ดีงามเอย

จบบทท่องจำชั้นประถมปีที่ ๖ ครับ
(รู้สึกจะขาดอีกบทหนึ่งที่ขึ้นต้นว่า
“แม่เกยหมู่ปักษา ข้อนหอยหาปลาในวน
กระหรอดหัวโขนขน หยองหยอยย่องข้องเกี่ยวหนาม
แซงแซวจับไซร้ขน ซุ่มซ่อนบนต้นมะขาม…
” นะครับ ผมก็จำได้แค่นี้เอง – webslave )
ชั้น ประถมปีที่ ๗

๏ ๏ ขุนช้างขุนแผน ๏ ๏
ตอน – พลายงามอาสาไปตีเชียงใหม่
๏ ครานั้นแสนตรีเพชรกล้าได้ฟังถาม
ก็ชื่นชอบตอบความหาช้าไม่
ซึ่งถามเราจะเล่าให้เข้าใจ
เจ้าชาวใต้ไม่รู้จู่ขึ้นมา
เราเป็นเชื้อเจ้าท้าวคำแมน
มียศถึงแสนตรีเพชรกล้า
เป็นเชื้อชาติทหารชาญศักดา
ในลานนาใครใครไม่ต่อแรง
พระครูผู้บอกวิทยา
ชื่อว่าศรีแก้วฟ้ากล้าแข็ง
สถิตยังเขาคำถ้ำวัวแดง
ทุกหนแห่งเลื่องลือนับถือจริง
เจ้าหนุ่มน้อยนี่หรือชื่อพลายงาม
ช่างสมรูปสมนามดูงามยิ่ง
ตละแกล้งหล่อเหลาเพราพริ้ง
รูปร่างอย่างผู้หญิงพริ้งพรายตา
จะเปรียบลูกก็อ่อนกว่าลูกเล็ก
จะเปรียบหลานพาลจะเด็กกว่าหลานข้า
ไม่ควรจะรบสู้กับปู่ตา
กลับไปบอกบิดามารอนราญ
จะได้เป็นขวัญตาโยธาทัพ
เป็นฉบับแบบไว้ในทหาร
ยังเด็กอยู่คอยดูวิชาการ
เฮ้ยเจ้าหลานพ่ออยู่ไหนไปบอกมาฯ

๏ ครานั้นพลายงามทรามคะนอง
ร้องตอบต่อคดีตรีเพชรกล้า
แน่เธออย่าเพ่ออหังการ์
เจรจาหมิ่นประมาทเราชาติเชื้อ
ตัวท่านแก่กายอย่างควายเฒ่า
อันตัวเราถึงเด็กเล็กลูกเสือ
ฝีมือใครไพร่ลาวแหลกเป็นเบือ
อย่าหลงเชื่อว่าผู้ใหญ่จะไม่แพ้
ถ้าไม่ดีที่ไหนใครจะมา
จะขอลองวิชากับตาแก่
ให้ปรากฏฤทธีว่าดีแท้
ฤๅเป็นแต่ปากกล้ากว่าฝีมือ
ขออภัยอย่าให้ถึงบิดา
แต่ลูกยาท่านจะชนะหรือ
มาลองดูสักหนให้คนลือ
จะปลกเปลี้ยเสียชื่อดอกกระมัง

๏ ครานั้นแสนตรีเพชรกล้า
โกรธาตาแดงดั่งแสงครั่ง
เหม่อ้ายนี่หนักหนาว่าไม่ฟัง
มาโอหังอวดรู้สู้สงคราม
เท้ากระทืบกระทบโกลนโผนผก
มุ่นหมกขับคว้างมากลางสนาม
ท่วงทีขี่ม้าสง่างาม
รำง้าวก้าวตามกระบวนทวน

(รู้สึกยังจะมีอีกบทหนึ่ง
ที่เป็นบทอัศจรรย์ระหว่าง
พระอภัยมณีกับนางผีเสื้อสมุทร

-เกิดกุฬาคว้าว่าวปักเป้าติด
กระแซะชิดขากบกระทบเหนียง
…..นะครับ จำได้แค่เนียะเหมือนกัน – webslave)
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑
๏ ๏ พระอภัยมณี ๏ ๏
ตอนที่ ๑๙
ของ – สุนทรภู่ –

พระฟังคำอ้ำอึ้งตะลึงคิด
จะเบือนบิดป้องปัดก็ขัดขวาง
สงสารลูกเจ้าลังกาจึงว่าพลาง
เราเหมือนช้างงางอกไม่หลอกลวง
ถึงเลือดเนื้อเมื่อน้องต้องประสงค์
พี่ก็คงยอมให้มิได้หวง
แต่ลูกเต้าเขาไม่เหมือนคนทั้งปวง
จะได้ช่วงชิงไปให้กระนั้น
พี่ว่าเขาเขาก็ว่ามากระนี้
มิใช่พี่นี้จะแกล้งแสร้งเสกสรรค์
เพราะเหตุเขารักใคร่อาลัยกัน
ค่อยผ่อนผันพูดจาอย่าราคี
แล้วตรัสบอกลูกน้อยกลอยสวาท
เจ้าหน่อเนื้อเชื้อชาติดงราชสีห์
อันรักษาศีลสัตย์กัตเวที
ย่อมเป็นที่สรรเสริญเจริญคน
ทรลักษณ์อกตัญญุตาเขา
เทพเจ้าก็จะแช่งทุกแห่งหน
ให้ทุกข์ร้อนงอนหง่อทรพล
พระเวทมนต์เสื่อมคลายทำลายยศ
เพราะบิดามาด้วยอุศเรนนี้
คุณเขามีมากล้นพ้นกำหนด
เจ้าทำผิดก็เหมือนพ่อทรยศ
จงออมอดเอ็นดูพ่อแต่พองาม
๏ ๏ โคลงดั้นวิวิธมาลี ๏ ๏
อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ
-พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) –

๏ ลูกเสือควรยึดข้อ……………..ภาษิต นี้เทอญ
ควรพึ่งแต่ตัวเรา……………..รอบด้าน
บำเพ็ญฝึกฝนกิจ……………….การช่วย ตนเทอญ
ทั้งช่วยเพื่อนบ้านด้วย………..ดุษฎี
๏ แม้เราปลงจิตพร้อม……………เพรียงกัน ฉะนี้นา
ต่างฝ่ายต่างกระวี………………….กระวาดถ้วน
พยายามฝึกหัดสรร-……………….พพิท ยาแฮ
สยามจักหลั่งล้นล้วน……………….เลศงาม
๏ ชาติต้องการให้ช่วย……………..ฉันใด ก็ดี
อาจช่วยได้ดังความ…………………มุ่งเกื้อ
ชูเทศเทอดไผท………………………เทียมเทศ อารย์พ่อ
สมเกียยรติยศผู้เชื้อ………………….ชาติไทย
๏ ๏ กฤษณาสอนน้อง ๏ ๏
ของ – สมเด็จกรมพระยาปรมานุชิตชิโนรส

๏ พฤษภกาสร……………………….อีกกุญชรอันปลดปลง
โททนต์เสน่ห์คง…………………….สำคัญหมายในกายมี
๏ นรชาติวางวาย……………………มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
สถิตทั่วแต่ชั่วดี………………………ประดับไว้ในโลกา

 

จบ บทท่องจำ ชั้น มัธยมศึกษาปีที่ ๑ ครับ

ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒

๏ ๏ กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน
และว่าด้วยงานนักขัตฤกษ์ ๏ ๏
พระราชนิพนธ์ โดย
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒

๏ ๏ เห่ชมเครื่องคาว ๏ ๏

๏ แกงไก่มัสมั่นเนื้อ
หอมยี่หร่ารสฉุน
ชายใดบริโภคภุญช์
แรงอยากยอหัตถ์ข้อน

๏ มัสมั่นแกงแก้วตา
ชายใดได้กลืนแกง
๏ ยำใหญ่ใส่สารพัด
รสดีด้วยน้ำปลา
๏ ตับเหล็กลวกหล่อนต้ม
โอชาจะหาไหน
๏ หมูแนมแหลมเลิศรส
พิศห่อเห็นรางชาง
๏ ก้อยกุ้งปรุงประทิ่น
รสทิพย์หยิบมาโปรย
๏ เทโพพื้นเนื้อท้อง
น่าซดรสครามครัน
๏ ความรักยักเปลี่ยนท่า
กลอ่อมกล่อมเกลี้ยงกลม
๏ ข้าวหุงปรุงอย่างเทศ
ใครหุงปรุงไม่เป็น
๏ เหลือรู้หมูป่าต้ม
รอยแจ้งแห่งความขำ
๏ ช้าช้าพล่าเนื้อสด
คิดความยามถนอม
๏ ล่าเตียงคิดเตียงน้อง
ลดหลั่นชั้นชอบกล
๏ เห็นหรุ่มรุมทรวงเศร้า
เจ็บไกลในอาวรณ์
๏ รังนกนึ่งน่าซด
นกพรากจากรังรวง
๏ ไตปลาเสแสร้งว่า
ใบโศกบอกโศกครวญ
๏ ผักโฉมชื่อเพราะพร้อง
ผักหวานซ่านทรวงใน นพคุณ พี่เอย
เฉียบร้อน
พิศวาส หวังนา
อกให้หวนแสวง ๚

หอมยี่หร่ารสร้อนแรง
แรงอยากให้ใฝ่ฝันหา
วางจานจัดหลายเหลือตรา
ญี่ปุ่นล้ำย้ำยวนใจ
เจือน้ำส้มโรยพริกไทย
ไม่มีเทียบเปรียบมือนาง
พร้อมพริกสดใบทองหลาง
ห่างห่อหวนป่วนใจโหย
วางถึงลิ้นดิ้นแดโดย
ฤๅจะเปรียบเทียบทันขวัญ
เป็นมันย่องล่องลอยมัน
ของสวรรค์เสวยรมย์
ทำน้ำยาอย่างแกงขม
ชมไม่วายคล้ายคล้ายเห็น
รสพิเศษใส่ลูกเอ็น
เช่นเชิงมิตรประดิษฐ์ทำ
แกงคั่วส้มใส่ระกำ
ช้ำทรวงเศร้าเจ้าตรากตรอม
ฟุ้งปรากฏรสหื่นหอม
สนิทเนื้อเจือเสาวคนธ์
นอนเตียงทองทำเมืองบน
ยลอยากนิทรคิดแนบนอน
รุ่มรุ่มเร้าคือไฟฟอน
ร้อนรุมรุ่มกลุ้มกลางทรวง
โอชารสกว่าทั้งปวง
เหมือนเรียมร้างห่างห้องหวน
ดุจวาจากระบิดกระบวน
ให้พี่เคร่าเจ้าดวงใจ
เป็นโฉมน้องฤๅโฉมไหน
ใคร่ครวญรักผักหวานนาง ๚
๏ ๏ เห่ชมเครื่องหวาน ๏ ๏

๏ สังขยาหน้าไข่คุ้น
แกมกับข้าวเหนียวสี
เป็นนัยนำวาที
แถลงว่าโศกเสมอพ้อม

๏ สังขยาหน้าตั้งไข่
เป็นนัยไม่เคลือบแคลง
๏ ซ่าหริ่มลิ้มหวานล้ำ
วิตกอกแห้งเครือ
๏ ลำเจียกชื่อขนม
ไกลกลิ่นดิ้นแดโดย
๏ มัศกอดกอดอย่างไร
กอดเคล้นจะเห็นความ
๏ ลุดตี่นี้น่าชม
โอชาหน้าไก่แกง
๏ ขนมจีบเจ้าจีบห่อ
นึกน้องนุ่งจีบกราย
๏ รสรักยักลำนำ
คำนึงนิ้วนางเจียน
๏ ทองหยิบทิพย์เทียมทัด
หลงหยิบว่ายาดม
๏ ขนมผิงผิงผ่าวร้อน
ร้อนนักรักแรมไกล
๏ รังไรโรงด้วยแป้ง
โอ้อกนกทั้งปวง
๏ ทองหยอดทอดสนิท
สองปีสองปิดบัง
๏ งามจริงจ่ามงกุฏ
เรียมร่ำคำนึงปอง
๏ บัวลอยเล่ห์บัวงาม
ปลั่งเปล่งเคร่งยุคล
๏ ช่อม่วงเหมาะมีรส
คิดสีสไลคลุม
๏ ฝอยทองเป็นยองใย
คิดความยามเยาวมาลย์
เคยมี
โศกย้อม
สมรแม่ มาแม่
เพียบแอ้อกอร ๚

ข้าวเหนียวใส่สีโศกแสดง
แจ้งว่าเจ้าเศร้าโศกเหลือ
แทรกใส่น้ำกะทิเจือ
ได้เสพหริ่มพิมเสนโรย
นึกโฉมฉมหอมชวยโชย
โหยไห้หาบุหงางาม
น่าสงสัยใคร่ขอถาม
ขนมนามนี้ยังแคลง
แผ่แผ่นกลมเพียงแผ่นแผง
แคลงของแขกแปลกกลิ่นอาย
งามสมส่อประพิมพ์ประพาย
ชายพกจีบกลีบแนบเนียน
ประดิษฐ์ทำขนมเทียน
เทียนหล่อเหลาเกลากลึงกลม
สามหยิบชัดน่าเชยชม
ก้มหน้าเมินเขินขวยใจ
เพียงไฟฟอนฟอกทรวงใน
เมื่อไรเห็นจะเย็นทรวง
เหมือนนกแกล้วทำรังรวง
ยังยินดีด้วยมีรัง
ทองม้วนมิดคิดความหลัง
แต่ลำพังสองต่อสอง
ใส่ชื่อดุจมงกุฏทอง
สะอิ้งน้องนั้นเคยยล
คิดบัวกามแก้วกับตน
สถนนุชดุจประทุม
หอมปรากฏกลโกสุม
หุ้มห่อม่วงดวงพุดตาน
เหมือนเส้นไหมไข่ของหวาน
เย็บชุนใช้ไหมทองจีน ๚
๏ ๏ เห่ชมผลไม้ ๏ ๏

๏ ผลชิดแช่อิ่มโอ้
หอมชื่นกลืนหวานใน
รื่นรื่นรสรมย์ใด
หวานเลิศเหลือรู้รู้

๏ ผลชิดแช่อิ่มอบ
รสไหนไม่เปรียบปาน
๏ ตาลเฉาะเหมาะใจจริง
คิดความยามพิสมัย
๏ ผลจากเจ้าลอยแก้ว
จากช้ำน้ำตากระเด็น
๏ หมากปรางนางปอกแล้ว
ยามชื่นรื่นโรยแรง
๏ หวนห่วงม่วงหมอนทอง
คิดความยามนิทรา
๏ ลิ้นจี่มีครุ่นครุ่น
หวนถวิลลิ้นลมงอน
๏ พลับจีนจักด้วยมีด
คิดโอษฐ์อ่อนยิ้มยวน
๏ น้อยหน่านำเมล็ดออก
มือใครไหนจักทัน
๏ ผลเกดพิเศษสด
คำนึงถึงเอวบาง
๏ ทับทิมพริ้มตาตรู
สุกแสงแดงจักย้อย
๏ ทุเรียนเจียนตองปู
เหมือนศรีฉวีกาย
๏ ลางสาดแสวงเนื้อหอม
กลืนพลางทางเพ่งพิศ
๏ ผลเงาะไม่งามแงะ
หวนเห็นเช่นรจนา
๏ สละสำแลงผล
ท่าทิ่มปิ้มปืนกาม เอมใจ
อกชู้
ฤๅดุจ นี้แม่
แต่เนื้อนงพาล ๚

หอมตรลบล้ำเหลือหวาน
หวานเหลือแล้วแก้วกลอยใจ
รสเย็นยิ่งยิ่งเย็นใจ
หมายเหมือนจริงยิ่งอยากเห็น
บอกความแล้วจากจำเป็น
เป็นทุกข์ท่าหน้านวลแตง
ใส่โถแก้วแพร้วพรายแสง
ปรางอิ่มอาบซาบนาสา
อีกอกร่องรสโอชา
อุราแนบแอบอกอร
เรียกส้มฉุนใช้นามกร
ชะอ้อนถ้อยร้อยกระบวน
ทำประณีตน้ำตาลกวน
ยลยิ่งพลับยับยับพรรณ
ปล้อนเปลือกปอกเป็นอัศจรรย์
เทียบเทียมที่ฝีมือนาง
โอชารสล้ำเลิศปาง
สางเกศเส้นขนเม่นสอย
ใส่จานดูดุจเม็ดพลอย
อย่างแหวนก้อยแก้วตาชาย
เนื้อดีดูเหลือเรืองพราย
สายสวาทพี่ที่คู่คิด
ผลงอมงอมรสหวานสนิท
คิดยามสารทยาตรามา
มล่อนเมล็ดและเหลือปัญญา
จ๋าเจ้าเงาะเพราะเห็นงาม
คิดลำต้นแน่นหนาหนาม
นามสละมละเมตตา ๚
(ขอบพระคุณ คุณสุคุณ ที่กรุณาแก้ไขและเพิ่มเติมข้อมูล ๑๖ กรกฎ ๔๗)
๏ ๏ เวนิสวาณิช ๏ ๏
พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖

๏ อันว่าความกรุณาปราณี
จะมีใครบังคับก็หาไม่
หลั่งมาเองเหมือนฝนอันชื่นใจ
จากฟากฟ้าสุราลัยสู่แดนดิน
เป็นสิ่งดีสองชั้นพลันปลื้มใจ
แห่งผู้ให้และผู้รับสมถวิล
เป็นกำลังเลิศพลังอื่นทั้งสิ้น
เจ้าแผ่นดินผู้ทรงพระกรุณา
ประดุจทรงวราภรณ์สุนทรสวัสดิ์
เรืองจรัสยิ่งมกุฏสุดสง่า
พระแสงทรงดำรงซึ่งอาชญา
เหนือประชาพสกนิกร
ประดับพระวรเดชวิเศษฤทธิ์
ที่สถิตอานุภาพสโมสร
แต่การุณยธรรมสุนทร
งามงอนกว่าพระแสงอันแรงฤทธิ์
เสถียรในหฤทัยพระราชา
เป็นคุณของเทวาผู้มหิทธ์
และราชาเทียมเทพอมฤต
ยามบพิตรเผยแผ่พระกรุณา

จบบทท่องจำชั้น มัธยมศึกษาปีที่ ๒ ครับ
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓
๏ ๏ เสภาเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ๏ ๏
-พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒-๓ –
๏ ยกออกนอกเมืองสวรรคโลก
ข้ามโคกเข้าป่าพนาศรี
เจ้าพลายกระสันพันทวี
รำลึกถึงนารีศรีมาลา
ถ้าแม้นแก้วแววตามาด้วยพี่
จะชวนชี้ชมไม้ไพรพฤกษา
คิดพลางเดินพลางตามทางมา
ข้ามท่าเขินเขาลำเนาธาร
แลเห็นเขาเงาเงื้อมชะง่อนชะโงก
เป็นกรวยโกรกน้ำสาดกระเซ็นซ่าน
ดูโครมครึกกึกก้องท้องพนานต์
พลุ่งพล่านมาแต่ยอดศิขรินทร์
เป็นชะวากวุ้งเวิ้งตะเพิงพัก
แง่ชะงักเงื้อมชะง่อนล้วนก้อนหิน
บ้างใสสดหยดย้อยเหมือนพลอยนิล
บ้างเหมือนกลิ่นภู่ร้อยห้อยเรียงราย
ตรงตระพักเพิงผาศิลาเผิน
ชะงักเงิ่นเงื้อมงอกชะแง้หงาย
ที่หุบห้วยเหวหินบิ่นทลาย
เป็นวุ้งโว้งเพรงพรายดูลายพร้อย
บ้างเป็นยอดกอดก่ายตะเกะตะกะ
ตะขรุตะขระเหี้ยนหักเป็นหินห้อย
ขยุกขยิกหยดหยอดเป็นยอดย้อย
บ้างแหลมลอยเลื่อมสลับระยับยิบ
บ้างงอกเง้าเป็นเงี่ยงบ้างเกลี้ยงกลม
บ้างโปปมเป็นปุ่มกะปุบกะปิบ
บ้างปอดแป้วเป็นพูดูลับลิบ
โล่งตะลิบแลตลอดยอดศิขรินทร์
เหล่ามิ่งไม้ไทรโศกอยู่ริมห้วย
ลมช่วยหล่นลอยกระแสสินธุ์
น้ำใสแลซึ้งถึงพื้นดิน
ฟุ้งกลิ่นสุมามาลย์บานระย้า
สัตตบุษย์บัวแดงขึ้นแฝงฝัก
พรรณผักพาดผ่านก้านบุบผา
แพงพวยพุ่งพาดพันสันตะวา
ลอยคงคาทอดยอดไปตามธาร….
(ที่คุณพี่เมธีดำ ให้ความเห็นไว้ที่ #๓๓ ครับ)

 

๏ ๏ กลอนดอกสร้อยรำพึงในป่าช้า ๏ ๏
ของ -พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ)

๏ วังเอ๋ยวังเวง
หง่างเหง่งย่ำค่ำระฆังขาน
ฝูงวัวควายผ้ายลาทิวากาล
ค่อยค่อยผ่านท้องทุ่งมุ่งถิ่นตน
ชาวนาเหนื่อยอ่อนต่างจรกลับ
ตะวันลับอับแสงทุกแห่งหน
ทิ้งทุ่งให้มืดมัวทั่วมณฑล
แลทิ้งตนตูเปลี่ยวอยู่เดียวเอย…..

๏ ความเอ๋ย ความรู้
เป็นเครื่องชูชี้ทางสว่างไสว
หมดโอกาสที่จะชี้ต่อนี้ไป
ละห่วงใยอยากรู้ลงสู่ดิน
อันความยากหากให้ไร้ศึกษา
ย่นปัญญาความรู้อยู่แค่ถิ่น
หมดทุกข์ขลุกแต่กิจคิดหากิน
กระแสวิญญาณงันเพียงนั้นเอย…….

๏ ห่วงเอ๋ยห่วงอะไร
ไม่ยิ่งใหญ่เท่าห่วงดวงชีวิต
แม้คนลืมสิ่งใดได้สนิท
ก็ยังคิดขึ้นได้เมื่อใกล้ตาย
เคยเป็นทุกข์ห่วงใยเสียได้ง่าย
ใครจะยอมละแดนแสนสบาย
โดยไม่ชายตาใฝ่อาลัยเอย…..

 

๏ ๏ โลกนิติคำโคลง ๏ ๏
ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาเดชาดิศร (มั่ง)

๏ พึงอวยโอวาทไว้……ในตน ก่อนนา
จึงสั่งสอนสาธุชน……..ทั่วหล้า
แต่แรกเร่งผจญ……….จิตอาต-มาแฮ
สัตว์อื่นหมื่นแสนอ้า…..อาจแท้ทรมาน

๏ คุณแม่หนาหนักเพี้ยง…..พสุธา
คุณบิดรดุจอา……………..กาศกว้าง
คุณพี่พ่างศิขรา…………….เมรุมาศ
คุณพระอาจารย์อ้าง……….อาจสู้สาคร

๏ เย็นเงาพฤกษ์มิ่งไม้……สุขสบาย
เย็นญาติทุกข์สำราย……..กว่าไม้
เย็นครูยิ่งพันฉาย…………กษัตริย์ยิ่ง ครูนา
เย็นร่มพระเจ้าให้…………ร่มฟ้าดินบน

๏ วิชาควรรักรู้…………….ฤๅขาด
อย่าหมิ่นศิลปศาสตร์…….ว่าน้อย
รู้จริงสิ่งเดียวอาจ…………มีมั่ง
เลี้ยงชีพช้าอยู่ร้อย……….ชั่วลื้อเหลนหลาน
จบบทท่องจำ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ครับ

(ผมคลับคล้ายคลับคลาถึงอีกบทหนึ่งที่มีเนื้อความว่า)

“ถึงหน้าวังดังประหนึ่งใจจะขาด
คิดถึงบาทบพิตรอดิศร
โอ้ประคุณทูนเกล้าของสุนทร……………

…..ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง
มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา
โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา
ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย
ทำบุญบวชกรวดน้ำขอสำเร็จ
พระสรรเพชญโพธิญาณประมาณหมาย
ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย
ไม่กล้ำกลายแกล้งเมินก็เกินไป
ไม่เมาเหล้าแต่เรายังเมารัก
สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป
แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืน “

จำไม่ได้ครับว่าเป็นของชั้นไหน
แต่ของ ม.ศ.๓ ที่ไม่เป็นอาขยาน แต่ชอบ
คือบทใน “นิทานเวตาล”

๏ ชายใดไม่เที่ยวเทียวไป ทุกแคว้นแดนไพร
มิอาจประสบพบสุข
๏ ชายใดอยู่เหย้าเนาทุกข์ ไม่ด้นซนซุก
ก็ชื่อว่าชั่วมัวเมา

๏ จงจรเที่ยว เทียวบทไป
พงพนไพร ไศละลำเนา
๏ ดั้นบถเดิน เพลินจิตเรา
แบ่งทุกขะเบา เชาวนะไวฯ

๏ ชายหาญชาญเชี่ยวเทียวไพร สองขาพาไป
บ่มัวบ่เมาเขลาขลาด
๏ ขาเขาคือกิ่งพฤกษชาติ ช่อชูดูดาษ
และดกด้วยดอกออกระดะ
๏ ไป่ช้าเป็นผลปนคละ โต ๆโอชะ
รสาภิรสหมดมวล
๏ โทษหลายกลายแก้แปรปรวน เจือจุนคุณควร
เพราะเหตุที่เที่ยวเทียวเดิน

๏ จงจรเที่ยวเทียวบทไป
พงพนไพร ไศละดำเนิน
๏ ดุ่มบถด่วน ชวนจิตเพลิน
ใดบ่มิเกิน เชิญบทจร ฯ

๏ เชิญคะนึงซึ่งพระทินกร ฤาหลับฤานอน
ธ เดินและด้นบนสวรรค์
๏ เธอมีความสุขทุกวัน หมื่นกัปแสนกัลป์
บ่อ่อนบ่เปลี้ยเพลียองค์

๏ จงจรเที่ยว เทียวบทไป
ตั้งจิตใน ไพรพนพง
๏ ดูทินกร จรจิรยง
แสนสุขทรง ทุกขะบ่มี ฯ

นอกจากนี้ยังมี สามัคคีเภทคำฉันท์ รู้สึกจะเป็นของ มศ.๔

” ๏ พวกราชมัลโดย พลโบยมิใช่เบา
สุดหัตถแห่งเขา ขณะหวดสิพึงกลัว
๏ บงเนื้อก็เนื้อเต้น พิศเส้นสรีร์รัว
ทั่วร่างและทั้งตัว ก็ระริกระริวไหว
๏ แลหลังละลามโล หิตโอ้เลอะหลั่งไป
เพ่งผาดอนาถใจ ระกะร่อยเพราะรอยหวาย… “

 

พ่อแม่รังแกฉัน / HOME

หากผลานิสงส์ ที่จะพึงมีพึงได้ ขอน้อมอาลัย อุทิศให้ท่าน : ฯลฯ (paiyanyai เจ้าของผลงาน บทอาขยานชุดนี้ (ครูหนู)

ที่มา   http://www.kroobannok.com/show_all_article.php?cat_id=34

ท้าวแสนปม

ท้าวแสนปม

           เรื่องนี้เกิดขึ้นในสมัยที่เมืองไทยยังไม่เป็นบึกแผ่นมั่นคงเหมือนอย่างในปัจจุบัน คนเชื้อสายไทยต่างก็แยกย้ายกันอยู่ โดยมีพ่อบ้านพ่อเมืองปกครองซึ่งก็ล้วนอยู่ในอำนาจของขอม

            ครั้งนั้นมีเจ้านายไทยพระองค์หนึ่งมีพระนามว่า “ เจ้าพรหม ” ทรงเป็นผู้นำที่คนไทยให้ความเตารพมาก พระองค์คอยหาโอกาสที่จะกอบกู้อิสระให้คนไทยพ้นจากอำนาจขอมเสียทีและในเวลาต่อมาอาณาจักรขอมก็เริ่มอ่อนแอลง เพราะมีชีวิตที่สะดวกสบายมานานและประมาทในความแข็งแกร่งของคนไทย  เพื่อปลดปล่อยคนไทยให้หลุดพ้นจากแอกของขอม เจ้าพรหมทรงนำกำลังที่รวบรวมไว้บุกเข้าจู่โจมขอมในทันที และประสบความสำเร็จในการเข้ายึดเมืองขอมไว้ได้ แล้วคนไทยก็ยึดครองเมืองของขอมนั้น เจ้าพรหมได้รับเชิญให้เสด็จขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่า พระเจ้าพรหมแห่งเมืองเชียงแสน

         ในเวลาต่อมา กษัตริย์มอญ มีพระประสงค์ที่จะขยายอาณาเขตของพระองค์จึงได้ยกทัพมาตีเมืองเชียงแสน พระเจ้าพรหมทรงเห็นว่าข้าศึกที่ยก มานั้นมีกำลังมากเกินที่จะต้านทายไว้ได้ ดังนั้นพระองค์จึงตัดสินพระทัยทิ้งเมือง และอพยพชาวพระนครมุ่งลงมาทางใต้ล่วงเข้ามาชายแดน เขตเมืองกำแพงเพชรพบซากเมืองเก่า พระองค์จึงโปรดให้ซ่อมแซมเมืองขึ้นใหม่แล้วขนานนามเมื่อว่า “ นครไตรตรึงษ์ ” กล่าวกันว่า พระมหากษัตริย์เสวยราชย์สืบสันติวงษ์ครองเมืองเรื่อยมาจนถึง 3 ชั่วคนครั้นถึงรัชกาลที่ 3 พระเจ้าไตรตรึงษ์ทรงมีพระธิดาองค์หนึ่งมีสิริโฉมงดงามยิ่งนักนามว่า “ อุษา ” พระบิดาทรงรัก และหวงแหน พระธิดามาก จึงทรงสร้างปราสาทให้พระธิดาอยู่ต่างหาก จัดหาข้าราชบริพารคอยปรนนิบัติรับใช้อยู่ตลอดเวลา

           วันหนึ่งในขณะเดินเล่นในสวนหลวงพระธิดาอานึกอยากเสวยมะเขือขึ้นมาทันที จึงสั่งพี่เลี้ยงไปนำมะเขือมาให้เสวยแต่พี่เลี้ยงก็หามะเขือไม่ได้สักผลเดียวในวัง จึงอาสาออกไปหามะเขือนอกพระราชวัง ใกล้ ๆ กับกำแพงพระราชวัง มีชายหนุ่มคนหนึ่งมีชื่อ “ แสนปม ” อาศัยอยู่ที่นั่นสาเหตุที่เขาถูกเรียกว่า “ แสนปม ” ก็เพราะว่าเนื้อตัวของเข้าเต็มไปด้วยปุ่มปมนับแสนนับพันแต่ว่าเป็นคนขยันและร่าเริง เขาทำมาหากินด้วยการปลูกผักแล้วนำไปขายในตลาดในเมือง

          แสนปมปลูกผักต่าง ไว้มากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเขือ แต่เขามีนิสัยแปลกประหลาดอยู่อย่างหนึ่งคือชอบถ่ายปัสสาวะรดต้นมะเขือที่ปลูกนั้นแล้ว ก็ทำให้มันงอกงามได้อย่างแปลกประหลาดเสียด้วยในขณะทำงานอยู่ในสวน พี่เลี้ยงของพระธิดาไปพบเข้าและขอซื้อมะเขือของเขา หลังจากได้มะเขือสมใจแล้วพี่เลี้ยงก็กลับเข้าสู่พระนครแล้วนำมะเขือที่ได้นั้นไปให้ห้องเครื่องปรุงมาถวาย แต่หลังจากเสวยมะเขือเข้าไปแล้ว พระธิดาก็ทรงครรภ์โดยมิได้สมสู่กับชายใดทั้งสิ้น

         เมื่อพระธิดาของพระองค์ประสูติพระโอรสแล้ว พระเจ้าไตรตรึงษ์มีพระประสงค์จะสืบหาบิดาของพระนัดดาของพระองค์ แต่ก็ต้องรอจนพระนัดดาเจริญวัยและคลานได้เสียก่อน ในเวลาต่อมา พระเจ้าไตรตรึงษ์ทรงรับสั่งให้เป่าประกาศให้ทุกคนหาของมาถวายพระนัดดาของพระองค์ และทรงอธิฐานว่าผู้ใดก็ตามที่เป็นบิดาของกุมารนี้ เมื่อเขาถวายสิ่งใดแก่พระกุมารขอให้พระกุมารชอบสิ่งของของผู้นั้น

            ในคราวนั้นแสนปมก็ถูกเรียกให้เข้าร่วมในพิธีด้วย แต่เขาไม่มีอะไรที่จะถวายพระกุมารเลยนอกจากข้าวสุกเพียงก้อนหนึ่งในมือเท่านั้น แต่ก็น่าประหลาดที่พระกุมารชอบก้อนข้าวสุกของเขาเป็นพิเศษ เหตุการณ์นี้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของคนทั้งหลายในที่นั้น ทำให้พระองค์ละลายพระทัยและอัปยศอดสูยิ่งนัก จึงรับสั่งให้ลงโทษโดยให้นำพระธิดาและพระนัดดาไปลอยแพตามแม่น้ำพร้อมกับนายแสนปม แต่ทันทีที่แพลอยมาถึงไร่ของนายแสนปม พระอินทร์ทรงรู้เรื่องราวความทุกข์ยากของนายแสนปมด้วยความสงสารจึงปลอมตนเป็นลิง แล้วเอากลองสารพัดนึกมามอบให้นายแสนปมใบหนึ่งแล้วสั่งว่าหากปรารถนาสิ่งใดก็ให้ตีกลองใบนั้น แต่ให้ตั้งสัตย์อธิฐานได้เพียงสามครั้งเท่านั้นด้วยความปลื้มปิติอย่างยิ่ง นายแสนปมจึงตั้งอธิฐานขอให้ปมที่เกิดขึ้นทั่วตัวหายไป หลังจากตีกลองปมเหล่านั้นก็หายหมด เมื่อตีกลองครั้งที่สองก็ตั้งอธิฐานขอให้มีบ้านเมืองครอบครอง และเมื่อตีครั้งที่สาม ก็ขอให้ได้เปลทองคำสำหรับบุตรชายของตนได้นอน และแล้วแสนปมก็ได้สิ่งปรารถนาทั้งสามประการนั้น

              และด้วยบุญญาธิการนี้ พระโอรสก็ได้บรรทมในเปลทองคำจึงได้นามว่า “ อู่ทอง ” แสนเองก็ได้เป็นกษัตริย์ทรงพระนามว่า “ เจ้าศิริชัยเชียงแสน ” ครองเมืองที่เนรมิตขึ้นนั้นและตั้งชื่อเมืองว่า “ เมืองเทพนคร ” หลังจากสิ้นพระชนม์ลง เจ้าชายอู่ทองก็ขึ้นครองราชย์แทนและทรงปกครองอยู่เป็นเวลา 6 ปีก่อนที่จะย้ายราชธานีไปอยู่ที่อยุธยา

ที่มา   http://www.kroobannok.com/show_all_article.php?cat_id=34

คำเรียกตัวเลขทั้งสิบในภาษาไทย

คำเรียกตัวเลขทั้งสิบในภาษาไทย 

 

1. เอก, เอก- [เอก, เอกะ-, เอกกะ-] เอกา, เอ้กา

เอกภาพ [เอกกะพาบ] ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

เอกาธิปไตย [เอกาทิบปะไต] ระบอบการปกครองที่ถือคนๆ เดียวเป็นใหญ่
2. ทวิ [ทะวิ] , โท

ทวิชาติ [ทะวิชาด] นก; พราหมณ์; ผู้เกิด 2 หน

ทวิบถ [ทะวิบด] สถานที่ซึ่งทาง 2 ทางผ่านกัน, สี่แยก
3. ตรี [ตฺรี]

ตรีโลก [ตฺรีโลก] ภพทั้ง 3 คือ กามภพ, รูปภพ, อรูปภพ หรือ สวรรค์, มนุษยโลก, บาดาล

ตรีศูล [ตฺรีสูน] สามง่ามเป็นศัสตราประจำหัตถ์พระอิศวร
4. จตุ- [จะตุ-] , จัตุ [จัดตุ] , จาตุ [จาตุ] , จัตวา [จัดตะวา]

จตุโลกบาล [จะตุโลกกะบาล] ผู้รักษาโลกใน 4 ทิศ คือ

1. ท้าวธตรฐ จอมภูตหรือจอมคนธรรพ์ อยู่ทิศตะวันออก
2. ท้าววิรุฬหก จอมเทวดาหรือจอมกุมภัณฑ์ อยู่ทิศใต้
3. ท้าววิรูปักษ์ จอมนาค อยู่ทิศตะวันตก
4. ท้าวกุเวร จอมยักษ์ อยู่ทิศเหนือ
จัตุรงค์ [จัดตุรง] เหล่า 4 คือ เหล่าช้าง ม้า รถ ราบ
5. เบญจ- [เบนจะ-]

เบญจกัลยาณี [เบนจะกันละยานี] หญิงมีลักษณะงาม 5 ประการ คือ

ผมงาม เนื้องาม (เหงือกและริมฝีปากแดงงาม) ฟันงาม ผิวงาม วัยงาม (ดูงามทุกวัย)

เบญจรงค์ [เบนจะรง] แม่สีทั้ง 5 คือ ดำ แดง ขาว เขียว (คราม) เหลือง
6. ฉ [ฉอ, ฉ้อ, ฉะ]

ฉกามาพจร, ฉกามาวจร [ฉะกามาพะจอน, ฉะกามาวะจอน] สวรรค์ 6 ชั้น คือ

ชั้นจาตุมหาราชิก ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามะ ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี

ฉัพพรรณรังสี [ฉับพันนะรังสี] รัศมี 6 ประการ คือ

1. นีล เขียวเหมือนดอกอัญชัน
2. ปีต เหลืองเหมือนหรดาลทอง
3. โลหิต แดงเหมือนตะวันอ่อน
4. โอทาต ขาวเหมือนแผ่นเงิน
5. มัญเชฐ สีหงสบาทเหมือนดอกเซ่งหรือหงอนไก่
6. ประภัสสร เลื่อมพรายเหมือนแก้วผลึก
7. สัต, สัต- [สัด, สัดตะ-]

สัตภัณฑ์ [สัดตะพัน] เขา 7 ทิว ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ

สัตรัตนะ [สัดตะรัดตะนะ] แก้ว 7 ประการของกษัตริย์ ได้แก่

จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว มณีแก้ว ขุนพลแก้ว ขุนคลังแก้ว นางแก้ว
8. อัฐ, อัฐ- [อัด, อัดถะ-] , อัฏฐะ [อัดถะ] , อัษฎ- [อัดสะดะ-]

อัฐบริขาร [อัดถะบอริขาน] เครื่องใช้สอยของพระภิกษุในพระพุทธศาสนามี 8 อย่าง คือสบง จีวร สังฆาฏิ บาตร มีดโกนหรือมีดตัดเล็บ เข็ม ประคดเอ็ว กระบอกกรองน้ำ

อัษฎายุธ, อัษฎาวุธ [อัดสะดายุด, อัดสะดาวุด] อาวุธ 8 อย่าง คือ

1. พระแสงหอกเพชรรัตน์
2. พระแสงดาบเชลย
3. พระแสงตรี
4. พระแสงจักร
5. พระแสงดาบและเขน หรือ ดาบและโล่
6. พระแสงธนู
7. พระแสงของ้าวแสนพลพ่าย
8. พระแสงปืนคาบชุดข้ามแม่น้ำสะโตง
9. นพ, นพ- [นบ, นบพะ-] , นว- [นะวะ-]

นพรัตน์, นวรัตน์, เนาวรัตน์ [นบพะรัด, นะวะรัด, เนาวะรัด] แก้ว 9 อย่าง

นวโลหะ [นะวะโลหะ] โลหะ 9 ชนิด คือ เหล็ก ปรอท ทองแดง เงิน ทองคำ เจ้าน้ำเงิน สังกะสี ชิน (โลหะเจือประกอบด้วยตะกั่วและดีบุก) ทองแดงบริสุทธิ์
10. ทศ, ทศ- [ทด, ทดสะ-]

ทศชาติ [ทดสะชาด] เรื่องพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งยังเป็นพระโพธิสัตว์ 10 ชาติดังนี้

1. พระเตมีย์ บำเพ็ญ เนกขัมมบารมี
2. พระมหาชนก บำเพ็ญ วิริยบารมี
3. พระสุวรรณสาม บำเพ็ญ เมตตาบารมี
4. พระเนมีราช บำเพ็ญ อธิษฐานบารมี
5. พระมโหสถ บำเพ็ญ ปัญญาบารมี
6. พระภูริทัต บำเพ็ญ ศีลบารมี
7. พระจัทกุมาร บำเพ็ญ ขันติบารมี
8. พระนารทะ บำเพ็ญ อุเบกขาบารมี
9. พระวิทูร บำเพ็ญ สัจบารมี
10. พระเวสสันดร บำเพ็ญ ทานบารมี
         ทศพิธราชธรรม [ทดสะพิดราดชะทำ] คุณธรรมของผู้ปกครองบ้านเมืองมี 10 ประการ คือ ทาน ศีล บริจาค ความซื่อตรง ความอ่อนโยน ความเพียร ความไม่โกรธ ความไม่เบียดเบียน ความอดทน ความไม่ประพฤติผิดธรรม

แหล่งอ้างอิงข้อมูล = บ้านมหาดอทคอม

กิริยา กับกริยา ต่างกันอย่างไร

                                                                                               

                                                                                   กริยา กับ กิริยา
               จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่พิสูจน์อักษรงานเขียนต่าง ๆ มา พบว่า มีคำอยู่ ๒ คำที่มักใช้สลับกันอยู่เสมอ คือ คำว่า กริยา กับ กิริยา สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น ผู้เขียนสันนิษฐานว่า คงเป็นเพราะ คำว่า กริยา กับ กิริยา เป็นคำที่มีรูปเขียนใกล้เคียงกันและออกเสียง ใกล้เคียงกัน จึงทำให้ผู้ใช้ภาษาเข้าใจว่า ๒ คำดังกล่าวสามารถใช้แทนกันได้เหมือนคำว่า ภรรยา กับ ภริยา หรือคำว่า ปกติ กับ ปรกติ ด้วยเหตุนี้ เพื่อมิให้ผู้อ่านสับสนเมื่อจะนำคำว่า กริยา กับ กิริยา ไปใช้ ผู้เขียนจึงขออธิบายผ่านคอลัมน์ “องค์ความรู้ภาษาไทยโดยราชบัณฑิตยสถาน” เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจและนำไปใช้ได้อย่างถูกต้องตรงความ ดังนี้

              คำว่า กริยา หมายถึง คำที่แสดงอาการของนามหรือสรรพนาม อ่านได้ ๒ แบบ คือ กฺริ-ยา และ กะ-ริ-ยา มาจากคำว่า กฺริยา ในภาษาสันสกฤต เป็น คำที่ใช้ในไวยากรณ์ แบ่งออกเป็นหลายประเภท เช่น กริยานุเคราะห์ หรือ กริยาช่วย หมายถึง กริยาที่ใช้ช่วยกริยาอื่น เช่น คง จะ ถูก น่า กริยาวิเศษณ์ หมายถึง คำวิเศษณ์ใช้ประกอบคำกริยาหรือคำวิเศษณ์ด้วยกันให้มีความแปลกออกไป

            ส่วนคำว่า กิริยา นั้น แม้จะมีรูปเขียนและการออกเสียงที่ใกล้เคียงกัน แต่ใช้ในความหมายที่ต่างกัน โดยหมายถึง การกระทำ; อาการที่แสดงออกมาด้วยกาย, มารยาท มาจากคำว่า กิริยา ในภาษาบาลี มักพบใช้ในคำว่า มีกิริยา หมายถึง มีกิริยาดี อากัปกิริยา หมายถึง กิริยาท่าทาง กิริยามารยาท หมายถึง กิริยาวาจาที่ถือว่าสุภาพเรียบร้อยถูกกาลเทศะ เป็นต้น

            จากที่อธิบายมาข้างต้น จึงสรุปได้ว่า คำว่า กริยา กับ กิริยา เป็นคำที่ใช้ในความหมายต่างกัน ไม่สามารถใช้แทนกันได้ โดยคำว่า กริยา ใช้ในไวยากรณ์ และคำว่า กิริยา ใช้ในการกระทำหรืออาการที่แสดงออกมาด้วยกายเท่านั้น สำหรับผู้ที่มีปัญหาข้อข้องใจในการใช้ภาษาไทยติดต่อได้ที่ ราชบัณฑิตยสถาน โทร. 0-2356-0466-70 หรือทางอินเทอร์เน็ตที่ http://www.royin.go.th

โดย พรทิพย์ เดชทิพย์ประภาพ

 

ขอบคุณที่มาจาก เดลินิวส์

คำว่าทัศนะและทรรศนะจะใช้ต่างกันอย่างไร

                                                         

                                                                 จะใช้คำว่าทัศนะและทรรศนะได้เมื่อไหร่               

    วันนี้ขอเสนอเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับคำว่า ทัศนะ และทรรศนะ ทั้งสองคำนี้ใช้แทนกันได้รึเปล่า หรือใช้แตกต่างกันอย่างไร พอจะสรุปได้ดังนี้

ทัศนะ – ทรรศนะ.. เป็นคำเดียวกัน หมายความว่า “ความเห็น,เครื่องรู้เห็น,สิ่งที่เห็น,การแสดง” ที่เขียนต่างกันนั้น

ทัศนะ เขียนตามรูปภาษามคธ( ภาษาถิ่นของภาษาอินเดียโบราณ) ส่วน ทรรศนะ เขียนตามรูปภาษาสันสกฤต
แต่เดิมนั้น คำทั้งสองมีกฏเกณฑ์การใช้ที่ค่อนข้างแน่นอน คือ
ทัศนะ ใช้ประกอบหน้าศัพท์ เช่น
ทัศนคติ – แนวความคิดเห็น
ทัศนวิสัย – ระยะทางไกลสุดที่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าและรู้ว่าเป็นอะไร
ทัศนศึกษา – การศึกษานอกสถานที่ หรือท่องเที่ยวเพื่อแสวงหาความรู้
ส่วน ทรรศนะ นั้นใช้ประกอบท้ายศัพท์ เช่น
จุลทรรศน์ – กล้อง
ส่วน ทรรศนะ นั้นใช้ประกอบท้ายศัพท์ เช่น
จุลทรรศน์ – กล้องขยายดูของเล็กให้เป็นเป็นของใหญ่
โทรทรรศน์ – กล่องส่องทางไกล หรือกล้องสลัด 
แต่แนวนิยมเช่นนี้ได้เปลี่ยนไปเมื่อปี พ.ศ. 2497 ประเทศไทยเราเริ่มมี “โทรทัศน์” เข้ามา

และออกเสียงตรงกับคำว่า “โทรทรรศน์” ที่หมายถึงกล้องส่องทางไกล

จึงจำเป็นต้องสะกดให้ต่างกันเป็น “โทรทัศน์”

ขอบคุณที่มา จำนงค์ ทองประเสริฐ : ภาษาของเรา

หน้ามน-หน้ามล เขียนอย่างไร

                                          หน้ามน-หน้ามล
                    คำในภาษาไทยที่มีรูปคล้ายคำบาลีสันสกฤตมีอยู่หลายคำด้วยกัน บางทีก็มีความหมายคล้าย ๆ กัน จนไม่แน่ใจว่าจะเป็นคำประเภทที่เรา “จับบวช” ให้เป็นแขกหรือเปล่า หรือบางทีอาจมีรูปหรือเสียงพ้องกันโดยบังเอิญ แต่ตามหลักปรัชญาแล้ว ท่านบอกว่า “ความบังเอิญ” อย่างนั้นไม่มีเพียงแต่เรายังไม่ทราบว่าสิ่งนั้น ๆ มันเกิดเนื่องมาจากสาเหตุใด เราก็เลยโยนไปให้แก่ “ความบังเอิญ” เท่ากับเป็นการปกปิด “อวิชชา” หรือ “ความโง่” ของเราไว้นั่นเอง

                 คำว่า “มน” นั้น ถ้าเป็นคำบาลี อ่านว่า “มะ-นะ” แปลว่า “ใจ” ในภาษาไทยเราก็มีเช่นกัน แต่เรามิได้ออกเสียงว่า “มะ-นะ” พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้เก็บไว้เป็น “มน ๒” และได้ให้ความหมายไว้ว่า “ว. กลม ๆ, โค้ง ๆ, ไม่เป็นเหลี่ยม.”เช่น โต๊ะตามปรกติจะมีมุมเป็นเหลี่ยม ๙๐ องศา แต่โต๊ะบางตัว เขาก็ทำมุมมีลักษณะโค้ง ไม่เป็นเหลี่ยม เราเรียกว่า “มุมมน” เช่นเราพูดว่า “ทำมุมให้มน ๆ หน่อยซี” หรือคน “หน้ามน” ก็คือรูปหน้าไม่เป็นเหลี่ยม แต่อาจมีผู้เห็นว่าถ้าเขียนเป็น “มน” ดูมันออกจะเชย ๆ ไป ก็เลยเปลี่ยนเป็น “มล” ก็มี และพวกลิเกหรือนักร้องบางคนก็มักออกเสียงคำในแม่กน เป็น ล สะกด เสมอ

               คำว่า “มล” เป็นคำบาลีและสันสกฤต พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายไว้ดังนี้ “น. ความมัวหมอง, ความสกปรก, ความไม่บริสุทธิ์; สนิม, เหงื่อไคล. ว. มัวหมอง, สกปรก, ไม่บริสุทธิ์.” เพราะฉะนั้น ถ้าเราเขียนเป็น “หน้ามล” ก็ต้องหมายความว่า “หน้าที่มัวหมอง, หน้าสกปรก, หน้าไม่บริสุทธิ์” หรือ “สนิมขึ้นหน้า, เหงื่อไคลที่หน้า” เป็นต้น ซึ่งนับว่าเป็นคนละความหมายกับคำว่า “หน้ามน” เลยทีเดียว

        ถ้าหากนำคำว่า “มน” และ “มล” ไปประกอบหน้าคำอื่น เช่น หน้าคำว่า “ฤดี” เป็น “มนฤดี” กับ “มลฤดี” ความหมายจะแตกต่างกันอย่างมากทีเดียวคำว่า “มนฤดี” ถ้าที่ “มน” ใช้ น สะกด ก็แปลว่า “ความยินดีแห่งใจ” เพราะคำว่า “ฤดี” ตรงกับคำบาลีและสันสกฤตว่า “รติ” แปลว่า “ความยินดี” ถ้าเขียนเป็น “มลฤดี” ที่ “มล” ใช้ ล สะกด ก็จะต้องแปลว่า “ความยินดีที่มัวหมอง, ความยินดีที่ไม่บริสุทธิ์ ซึ่งกลายเป็นคนละเรื่องคนละราวไปเลย

          การที่จะจับคำไทย “บวชเป็นแขก” นั้น ถ้าไม่เข้าใจภาษาบาลีและสันสกฤตแล้วจะทำให้คำที่ “จับบวช” นั้นมีความหมายคลาดเคลื่อนไปจากความหมายเดิมมาก และบางทีก็กลายเป็นคำที่มีความหมายไม่สู้ดีนักก็มีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย.

ผู้เขียน : ศ.จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม
ที่มา : ภาษาไทยไขขาน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แพร่พิทยา. ๒๕๒๘. หน้า ๓๘๘-๓๘๙.
http://www.royin.go.th/th/knowledge/detail.php?ID=1204